ตามที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกมีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 กำหนดให้พื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกตามแผนผังประกอบโครงการที่สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเสนอ เป็นเขตส่งเสริมตาม ข้อ 3 (1) ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2560 เรื่อง การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ลงวันที่ 17 มกราคม 2560 และให้ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินตามที่สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเสนอ ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 เห็นชอบให้ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินในเขตส่งเสริมตามมติคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และประกาศข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ของเขตส่งเสริมลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 โดยพื้นที่พัฒนารอบสถานีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (Transit Oriented Development : TOD) ที่สำคัญและมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจหลักของเมืองรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง และเป็นส่วนขยายตัวของเมืองอย่างมีคุณภาพ มีจำนวน 6 บริเวณ ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ สถานีมักกะสัน กรุงเทพมหานคร สถานีฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา และสถานีพัทยา จังหวัดชลบุรี
เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม การวางและจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษฯ จึงเห็นควรให้มีการศึกษารวบรวมนโยบาย แผนงานโครงการระดับพื้นที่และความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาและประเมินทางเลือกของแผนผังฯ ครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อจัดทำแผนผังฯ และแผนงานโครงการสำคัญที่ได้มาตรการการพัฒนาบนพื้นฐานของความยั่งยืนและสอดคล้องกับเป้าหมายเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษฯ ในการเชื่อมโยงการคมนาคมเดินทางระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและภาคมหานคร
จากเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าว การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ สกพอ. กำหนดให้เร่งรัดดำเนินการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษฯ รองรับการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูง แนวทางดำเนินการ รูปแบบกิจกรรมที่เหมาะสมเพื่อการพัฒนาบริเวณพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูง 2 แห่ง ได้แก่ 1. สถานีพัทยา จังหวัดชลบุรี และ 2. สถานีฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและการประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจการรับรู้ในชุมชนและท้องถิ่น และว่าจ้างที่ปรึกษาที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ ด้านการมีส่วนร่วมและการประชาสัมพันธ์ การผังเมือง สิ่งแวดล้อม สถาปัตยกรรม วิศวกรรม กฎหมาย และระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์เพื่อมาให้คำปรึกษา สนับสนุน และช่วยเหลือ รฟท. และ สกพอ. ในการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น