พัฒนา TOD รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง
ฉะเชิงเทราและพัทยา
ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน
พร้อมส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของ EEC


โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) เพื่อสร้างงาน สร้างโอกาส ยกระดับมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้าง New S-Curve โดยมีรถไฟความเร็วสูงขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เวทีโลก เป็นการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างทั่วถึง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ซึ่งหนึ่งในการต่อยอดการพัฒนารถไฟความเร็วสูงให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้เกิดการใช้ประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม พร้อมไปกับการสร้างให้พื้นที่มีมูลค่าเศรษฐกิจสูงขึ้น โดยยึดหลักการพัฒนาเมืองโดยรอบสถานีขนส่งหรือ TOD เป็นหลัก และเป็นการวางแผนเพื่อการพัฒนาพื้นที่โดยเน้นความสมัครใจและความสนใจร่วมโครงการ โดยมิได้เวนคืนที่ดินของประชาชนแต่อย่างใด

ด้วยความสำคัญดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จึงได้ดำเนินการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณพื้นที่รอบสถานีเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษฯ เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูง 2 แห่ง ได้แก่ สถานีพัทยา จังหวัดชลบุรี และสถานีฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา

 
 
 
 

พื้นที่ศึกษาโครงการ

 

ศึกษาบริเวณโดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทราและพัทยา ในรัศมีไม่เกิน 2 กิโลเมตร

ลักษณะการจัดทำแผนผังพื้นที่ตามหลัก TOD

 

 

แนวคิด Transit Oriented Development (TOD)

เป็นแนวคิดในการพัฒนาเมืองและชุมชนเมืองควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง โดยเน้นการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทาง โดยกำหนดรูปแบบการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างชุมชนรอบสถานีให้เป็นชุมชนคุณภาพ น่าอยู่อาศัย น่าใช้ชีวิต น่าลงทุนทำธุรกิจ เพื่อส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมการเดินทาง ทั้งเข้า-ออกพื้นที่ด้วยระบบขนส่งสาธารณะ และส่งเสริมการเดินทางในพื้นที่ด้วยการเดินทางโดยไม่ใช้เครื่องยนต์

องค์ประกอบของ TOD

– High Density/Mix Use : มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการอยู่อาศัยอย่างผสมผสาน เป็นเมืองที่กระชับ ใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า ลงตัวกับการใช้ชีวิตขับเคลื่อนเศรษฐกิจคล่องตัว

– Linkage : เข้าถึงง่ายด้วยระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (Feeder) และสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทาง เชื่อมต่อกับพื้นที่ภายนอกได้อย่างสะดวก

– Amenities : มีพื้นที่สีเขียว ที่โล่งว่าง โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค-สาธารณูปการ และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ตามหลัก Universal Design

– Non-Motorized : ปั่นสะดวก เดินสบาย ไปไหนก็ใกล้ ไม่ต้องใช้รถยนต์